top of page
News & Updates

05.07.21 การเสวนาวิชาการหัวข้อ การแปล อาณาบริเวณและการเมืองระหว่างบรรทัด

          การเสวนาวิชาการหัวข้อ การแปล อาณาบริเวณและการเมืองระหว่างบรรทัด จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 2 มิถุนายน 2564 เวลา 13.30 – 15.00 น. ผ่านทาง Facebook Live: RILCA, Mahidol University โดยมีผู้ร่วมเสวนาเป็นนักวิชาการด้านการแปลศึกษา 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร. แพร จิตติพลังศรี อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ ดร. ณรงเดช พันธะพุมมี อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม วิชาเอกการแปล ดำเนินรายการโดยอาจารย์ ดร. กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม วิชาเอกการแปล


          “การแปล อาณาบริเวณและการเมืองระหว่างบรรทัด” เป็นวงสนทนาที่เปิดพื้นที่ให้นักวิชาการด้านการแปลศึกษาได้แลกเปลี่ยนแง่มุมต่าง ๆ ของการแปลศึกษา เริ่มตั้งแต่การให้คำอธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับการแปลศึกษา การศึกษาการแปลตามความเข้าใจเดิมอาจเคยถูกจำกัดอยู่ที่การศึกษาการแปล และกลวิธีการแปลที่พบจากการเปรียบเทียบตัวต้นฉบับและตัวบทแปล โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบทประเภทวรรณกรรม แต่การแปลศึกษาเป็นการศึกษาที่อาจครอบคลุมประเภทตัวบทที่หลากหลายกว่านั้น เช่น การแปลกฎหมาย การแปลในชั้นศาล หรือการแปลสื่ออื่น ๆ เป็นต้น นอกจากนั้น การแปลศึกษามีความหมายครอบคลุมถึงการศึกษาการแปล บทบาทและอิทธิพลของการแปลจากมุมมองของศาสตร์ที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรมศึกษา เพศสภาวะศึกษา อาณาบริเวณศึกษา และหลังอาณานิคมศึกษา เป็นต้น การศึกษาการแปลในลักษณะนี้ เป็นการนำแนวคิดเชิงสังคมศาสตร์ สังคมวิทยา และวัฒนธรรมศึกษาเข้ามาช่วยมองการแปล ถือว่าเป็นการขยายกรอบการศึกษาการแปลให้ก้าวพ้นการศึกษาที่เคยถูกจำกัดแค่ในตัวบท วงสนทนายังได้พูดคุยถึงการเรียนการสอน และการวิจัยด้านการแปลในประเทศไทยที่เริ่มขยับขยายจากการศึกษาการแปลผ่านการเปรียบเทียบตัวบท เป็นการศึกษาด้วยแนวคิดและทฤษฎีจากศาสตร์อื่น ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ช่วงท้ายของการเสวนามีการเปิดเวทีให้ผู้รับชมทาง liveได้ซักถามและตั้งข้อสังเกต หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจ คือบทบาทของงานแปลในการประกอบสร้างตัวตน และความเป็นเอกลักษณ์ของผู้อ่านในแต่ละช่วงยุค โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างกรณีวรรณกรรมเรื่องกามนิต-วาสิฏฐีที่อาจถือได้ว่าได้สร้างมาตรฐานของภาษาไทยแม้ว่าจะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการแปล และนวนิยายจีนกำลังภายในที่ประกอบสร้างภาษาแปลที่เป็นเอกลักษณ์


          การเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกลุ่มวิจัยสุนทรียศาสตร์ และสังคมวิทยาวัฒนธรรมฯ และศูนย์การแปลและบริการด้านภาษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ภารกิจและเป้าหมายหลักของกลุ่มวิจัยฯ คือการเปิดพื้นที่และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมวิทยาวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น ประเด็นที่ปรากฏในภาพยนตร์ สื่อ และวรรณกรรมแปล รวมถึงวัฒนธรรมข้ามพรมแดน เป็นต้น ส่วนศูนย์การแปลฯ มีหน้าที่ให้บริการด้านการแปล บริการด้านภาษา และจัดการบริการวิชาการที่หลากหลายอันเกี่ยวข้องกับการแปล ทั้งยังผลิตงานวิจัยจากคณาจารย์และนักวิจัยภายในศูนย์ฯ ทั้งกลุ่มวิจัยฯและศูนย์การแปลฯ มีเป้าหมายการดำเนินงานร่วมกันในเผยแพร่และขยายองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยาวัฒนธรรม โดยเฉพาะประเด็นด้านการแปล และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง


ชมกิจกรรมย้อนหลังได้ที่: https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=532548254570498

bottom of page