top of page
News & Updates

12.2.20 - Intervening the future: พื้นที่สื่อ การเรียกร้องศาสนาประจำชาติ และการขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย


กลุ่มวิจัยสุนทรียศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับ โครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. (ปัจจุบัน สกสว.)

กลุ่มหัวข้อ: สื่อเก่า สื่อใหม่ กับการขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์และศิลปะร่วมสมัย จัดเสวนาสาธารณะ

“Intervening the future: พื้นที่สื่อ การเรียกร้องศาสนาประจำชาติ และการขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย”


เมื่อวันพุธที่ 12 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 - 16.00 น. กลุ่มวิจัยสุนทรียศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ร่วมกับ โครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. (ปัจจุบัน สกสว.) จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง “Intervening the future: พื้นที่สื่อ การเรียกร้องศาสนาประจำชาติ และการขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย” โดย คุณชานนท์ ลัภนะทิพากร นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา นำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. "วาทกรรมของกลุ่มเครือข่ายชาวพุทธต่อการขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย (พ.ศ. 2549-2559)" 

งานวิจัยมุ่งศึกษาการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ภาคประกอบ (constitutive censorship) ที่เป็นการพยายามขับเคลื่อนให้มีการกำกับควบคุมภาพยนตร์นอกเหนือจากบริบทกฎหมาย กรณีศึกษาให้ความสนใจกับภาพยนตร์ไทยที่นำเสนอภาพพระและการประท้วงเพื่อขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์โดยกลุ่มเครือข่ายชาวพุทธกลุ่มต่างๆ ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2540-50 โดยอาศัยแนวคิดการศึกษาการตอบรับสื่อ (Reception Studies)  และการวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis)


งานเสวนาครั้งนี้มีนักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนใจบริบทสื่อ ภาพยนตร์ และศาสนาในสังคมไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยจากหลากหลายสาขา เพื่อสร้างบทสนทนาระหว่างงานวิจัย

ข้ามศาสตร์

ดร.วิกานดา พรหมขุนทอง อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ กล่าวถึงความเชื่อมโยงของงานวิจัยของชานนท์ระหว่างศาสตร์ภาพยนตร์ศึกษา (film studies) โดยเฉพาะการศึกษาบริบทแวดล้อมภาพยนตร์ (contextual studies) เช่นการผลิต จัดจำหน่าย การรับรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์ ศาสตร์ด้านวัฒนธรรมศึกษาซึ่งให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตประจำวัน ผู้คน พื้นที่ สินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โครงสร้างทางสังคม และบริบทแวดล้อม และความสนใจเฉพาะทางของนักศึกษาด้านพุทธศาสนากับสังคมไทย


ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธปรัชญาและพุทธศาสนา ร่วมบรรยายในการบรรยายเรื่อง “ประวัติศาสตร์ภัยคุกคามพุทธศาสนาในประเทศไทย” โดยได้นำเสนอปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและศาสนาระดับภูมิภาคและในประเทศไทย ในช่วงเวลาก่อน พ.ศ.2500 จนถึงช่วงเวลา 2500 จนถึง ทศวรรษที่ 2520 ที่กลุ่มชนชั้นปกครองและกลุ่มปัญญาชนชาวพุทธถือว่า “ภัยคุกคาม” ต่อพุทธศาสนาในประเทศไทย เหตุการณ์ระดับโลกที่มีนัยสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่ชาติตะวันตกล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนกระทั่งยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาบาวริ่ง (พ.ศ.2398)  การประกาศใช้ พรบ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) การสร้างความเป็นไทยผ่านธงไตรรงค์ (พ.ศ.2461) และทำให้พุทธศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความเป็นไทย การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนและในประเทศไทย การอภิวัตน์ของคณะราษฎรและการก่อตั้งสวนโมกขพลารามของพุทธทาสภิกขุ (พ.ศ.2475) ความขัดแย้งคณะสงฆ์ภายใต้ พรบ.2484 การลี้ภัยในจีนของปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.2492) รวมทั้งเหตุการณ์ที่ดูเหมือนเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ เช่น การปาฐกถาเรื่อง “การแทรกซึมของศาสนาใหม่” ของม.รว.เสนีย์ ปราโมช (พ.ศ. 2501) หรือเหตุการณ์ระดับชาติ เช่น การขึ้นสู่อำนาจของสฤษฎ์ ธนะรัตน์ การจับกุมพระพิมลธรรมและประกาศใช้พรบ.สงฆ์ 2505 การสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (พ.ศ.2505-2508) และการปราบปรามนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2519 เหตุการณ์ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2500 จนกระทั่ง พ.ศ.2519 คือช่วงเวลาที่พุทธศาสนาในประเทศไทยได้ถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐเพื่อต่อต้านภัยจากการล่าอาณานิคมของตะวันตกและภัยคอมมิวนิสต์ โดยฝ่ายบ้านเมืองได้ปฏิรูปองค์กรสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียว (แต่กลับนำไปสู่ความแตกแยกภายในคณะสงฆ์เอง) และโน้มน้าวให้ชาวพุทธเชื่อว่าความไม่มั่นคงของชาติคือความไม่มั่นคงของพุทธศาสนา


นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ ยังได้กล่าวถึงปราฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยตรง นับแต่ช่วงพ.ศ.2510-252537 เช่น กรณีที่พุทธทาสภิกขุแสดงปาฐกถาชินแคลร์ทอมสันอนุสรณ์ “คริสตธรรม-พุทธธรรม” ที่วิทยาลัยพระคริสตธรรม (พ.ศ.2510) และ“ธัมมิกสังคมนิยม” (พ.ศ.2517) แก่คณะผู้พิพาษกา ตลอดจนปาฐกถาธรรม “ไม่มีความขัดแย้งในศาสนา” (พ.ศ.2525) การเสด็จยืนประเทศไทยของพระสันตะปาปาจอห์ปอลที่ 2 และการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา วันวิสาขบูชา ปี พ.ศ.2527 ที่มีการรณรงค์ให้เกิดการรับร็ความเป็นศาสนาประจำชาติไทยของพุทธศสนาอย่างกว้างขวางโดยปัญญาชนชาวพุทธ  ความขัดแย้งระหว่างพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนาในประเทศไทยระอุขึ้นใน พ.ศ. 2525-2527 แล้วจางหายไปเมื่อย่างเข้าทศวรรษที่ 2530 เมื่อพระโพธิรักษ์ซึ่งประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์ไทย (ตั้งแต่พ.ศ.2518) ประกาศสนับสนุนพลตรีจำลอง ศรีเมืองและพรรคพลังธรรมในการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี พ.ศ.2531 กลุ่มชาวพุทธได้รวมตัวกันดำเนินคดีพระโพธิรักษ์ในข้อหาแต่งกายเลียนแบบพระภิกษุปรากการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นได้บ่งชี้ว่า (1) สำนึกเกี่ยวกับความเป็นศาสนาประจำชาติของชาวพุทธ เกิดจากสาเหตุที่พุทธศาสนาถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความเป็นไทย เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมตะวันตกในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และถูกดึงเข้าเป็นแนวต้านภัยคอมมิวนิสต์ (ช่วงเวลา พ.ศ.2500-2519) (2) การเรียกร้องศาสนาประจำชาติไทยในรัฐธรรมนูญ (ตั้งแต่สมัยแรก ๆ จนปัจจุบัน) เกิดจากการมองว่าลัทธิศาสนาอื่นเป็นภัยต่อความมั่นคงของพุทธศาสนา และจากการพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาไม่ได้แน่นแฟ้นมั่นคงเหมือนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งหวาดระแวงว่าระบอบประชาธิปไตยมีช่องโหว่ที่เปิดโอกาสให้ลัทธิศาสนาอื่นเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ส.ส.  ซึ่งจะสร้างความไม่มั่นคงหรือบั่นทอนสถานะการเป็นศาสนาประจำชาติของพุทธศาสนา (3) การเคลื่อนไหวเพื่อให้เซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของกลุ่มองค์กรชาวพุทธนั้น มาจากความคิดในลักษณะเดียวกันกับเรื่องศาสนาประจำชาติ  กล่าวคือ ชาวพุทธไม่ต้องการให้มีการวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาในพื้นที่สาธารณะ เพราะจะบั่นทอนความศักดิ์สิทธิ์ ความน่าเชื่อถือ หรือความศรัทธาในพุทธศาสนา อันจะเป็นช่องโหว่ให้ศาสนาหรือลัทธิอื่นนำไปโจมตี บั่นทอนความเข้มแข็งของพุทธศาสนาในฐานะศาสนาที่ควรเคารพบูชาของคนไทย (4) การวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาเป็นประเด็นที่ชาวพุทธหรือกลุ่มองค์กรชาวพุทธถือว่าเป็นปัญหาเสมอมา ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2501 ที่บาทหลวงตีพิมพ์หนังสือปุจฉาวิสัชชนาที่มีข้อวิจารณ์พุทธศาสนาจนเกิดการประท้วงอย่างหนักในปี พ.ศ.2502 หรือการเสนอให้ดำเนินคดีกับพระโพธิรักษ์และสำนักสันติอโศก ส่วนหนึ่งก็สืบเนื่องจากการวิจารณ์คณะสงฆ์ของพระโพธิรักษ์ด้วย และ (5) ความพยายามจะให้มีกฎหมายห้ามวิจารณ์พุทธศาสนา หรือการต่อต้านภาพยนตร์วิจารณ์พุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2540 ลงมา จึงมีนัยสัมพันธ์กับสำนึกความเป็นศาสนาประจำชาติและมุมมองเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อพุทธศาสนาประจำชาติของชาวพุทธ


งานวิจัยของ คุณชานนท์ ลัภนะทิพากร นำเสนอให้เห็นว่า การประท้วงภาพยนตร์ในกรณีศึกษานั้นมีจุดมุ่งหมายร่วมกันเป็นประเด็นสำคัญคือ "การมุ่งปกป้องสถาบันพระพุทธศาสนา" จากภัยคุกคามที่ปรากฏในรูปการนำเสนอภาพพระภิกษุ-สามเณรที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นภาพพระเณร-ตลก ไม่สำรวม ไม่สามารถเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน ในเรื่อง โกยเถอะโยม (2549) ที่สะท้อนผ่านชื่อเรื่อง ตัวอย่างภาพยนตร์ รวมทั้งพฤติกรรมเสื่อมเสียชื่อเสียงก่อนบวชของตัวละครพระ  ภาพพระปลอมบวช และสามเณรประพฤติผิดวินัยใน นาคปรก (2553) และ อาบัติ (2558) ภาพตัวแทนของพระเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประท้วงตีความว่าภาพยนตร์มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่นศาสนา ทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาในศาสนา การตีความชื่อ ภาพ หรือตัวละครที่ตัดขาดจากเนื้อหาของภาพยนตร์ทั้งเรื่องก่อให้เกิดการประท้วงผ่านสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ ผู้ทำหน้าที่กำกับควบคุมสื่อภาพยนตร์ออกคำสั่งระงับการฉาย และตรวจสอบภาพยนตร์เหล่านี้เป็นกรณีพิเศษ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้การประท้วงซึ่งเปรียบเสมือนการเซ็นเซอร์ภาคประกอบจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จในการระงับฉายภาพยนตร์เสมอไป ทว่าในพื้นที่สื่อวาทะกรรมเกี่ยวกับ “ภาพลักษณ์” และ “ความเหมาะสม” กลายเป็นสิ่งที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ให้การยอมรับ อาทิฝ่ายผู้ผลิตซึ่งให้ความเห็นเพื่อต่อรองกับการประท้วงว่าภาพยนตร์ของพวกเขามีเนื้อหาส่งเสริมศาสนา การนำเสนอภาพพระที่ไม่เหมาะสมในบางกรณีเป็นเพียงแค่การนำเสนออุทาหรณ์ เพื่อสอดแทรกคำสอนศาสนาแต่เพียงเท่านั้น ในกรณีที่มีการออกคำสั่งให้ตัดต่อแก้ไขฉาก ผู้ผลิตยอมรับกลไกการเซ็นเซอร์ทางกฎหมายเพื่อให้ผลงานสามารถจัดจำหน่ายได้ตามวัตถุประสงค์


ข้อค้นพบในเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นถึง ความสำคัญของวาทกรรม "ภาพลักษณ์" และ “ความมั่นคง” ในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงลักษณะปฏิบัติการของผู้ประท้วง เช่น การยื่นหนังสือแถลงการณ์ไปยังองค์กรรัฐ ที่แสดงถึงอำนาจในการสร้างความเคารพนับถือในพื้นที่สาธารณะ ปฏิบัติการทางสังคมของผู้ผลิตภาพยนตร์บนพื้นที่สื่อมวลชนคือการต่อรองตำแหน่งแห่งที่ในสนามวาทกรรม เพื่อจัดจำหน่ายภาพยนตร์ภายในประเทศ บทบาทเหล่านี้ล้วนเป็นแบบแผนทางสังคมภายใต้อุดมการณ์วิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติในทางพฤตินัย ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน

ผู้ช่วยศาสตราจารน์ ดร. ณรงค์ อาจสมิติ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิจัยสุนทรียศาสตร์ และสังคมวิทยาวัฒนธรรม ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบริบทสังคมปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิด และทิศทางการเคลื่อนไหวเรื่องศาสนาประจำชาติในปัจจุบัน ร่วมกับผู้สนใจซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการแสดงออกทางความคิดผ่านการผลิตงานศิลปะของศิลปินในประเทศไทย รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์


สามารถรับชมบันทึกวีดีโอ การเสวนาสาธารณะ “Intervening the future: พื้นที่สื่อ การเรียกร้องศาสนาประจำชาติ และการขับเคลื่อนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทย”


Part1 https://youtu.be/KfziZGDBj8E

Part2 https://youtu.be/GUUX4NGj5lQ


ผู้สนใจกิจกรรมเสวนาสาธารณะ ของกลุ่มวิจัยสุนทรียศาสตร์และสังคมวัฒนธรรม หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ครั้งต่อไป ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ด้านล่างนี้


กิจกรรมอื่นๆ ในโครงการเดียวกัน ได้แก่


พุธที่ 19 ก.พ. เวลา 13.00 - 16.00 น.

Uncovering the past in the archive: จดหมายเหตุในฐานะระเบียบวิธีวิจัยและตัวบทสำหรับการศึกษาศิลปะและการเมืองวัฒนธรรม

ดร.สายัณห์ แดงกลม และ นวภู แซ่ตั้ง

(ห้องณัฐ ภมรประวัติ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล)


พุธที่ 26 ก.พ. 13.00 - 16.00 น.

Creating Alternative Spaces: การจัดแสดงภาพยนตร์และศิลปะในพื้นที่ทางเลือก

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์, พระชาย วรธัมโม, ดร.ถนอม ชาภักดี และกิตติมา จารีประสิทธิ์

(อาคารเรือนไทย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล)


bottom of page